ท้องลม (Blighted Ovum) คืออะไร ?
เชื่อว่าคุณผู้หญิงหลายท่านอาจจะเคยได้ยิน คำว่า “ท้องลม” หรือ “ภาวะท้องลม” (Blighted Ovum) มาบ้างแล้ว การตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวอ่อนหรือตัวอ่อนสลายไปตั้งแต่ระยะของการตั้งครรภ์แรกๆ เหลือเพียงไว้แค่ถุงการตั้งครรภ์ ภาวะดังกล่าวทางการแพทย์เรียกว่าท้องลม สัญญาณเตือนท้องลม เป็นอย่างไร และใครบ้างที่เสี่ยงจะท้องลม วันนี้ DHC IVF Center เรามีคำตอบ ตามมาดูกันเลย
จะรู้ได้อย่างไรว่าท้องลม ? สัญญาณเตือนท้องลม ?
สัญญาณเตือนท้องลม : ท้องลมจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ในระยะแรกอาจมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ เต้านมคัดตึง มีอาการเป็นเหมือนกับคนตั้งครรภ์ทั่วไป หลังจากนั้นอาการเหล่านี้จะหายไป แล้วจะสังเกตหรือรู้สึกว่าท้องไม่โตขึ้นเมื่อผ่านไปได้ระยะหนึ่ง พบว่ามีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือมีประจำเดือนมามากกว่าปกติ อาจมีอาการปวดท้องน้อยก่อนจะมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
การตรวจหาว่าเป็นท้องลมหรือไม่นั้น แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อหาฮอร์โมนยืนยันการตั้งครรภ์ และตรวจอัลตราซาวด์ร่วมด้วย โดยคนที่มีการตั้งครรภ์เป็นปกติ หากมีอายุครรภ์ประมาณ 5–6 สัปดาห์ จะต้องเริ่มเห็นถุงการตั้งครรภ์ ต่อมาจะเห็นตัวเด็กและเห็นหัวใจเต้น แต่หากตรวจดูแล้วไม่เห็นหรือเห็นถุงการตั้งครรภ์ว่าง ก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นท้องลม
ทำไมท้องลมแล้วถึงได้ผลตรวจการตั้งครรภ์เป็นบวก?
การตรวจการตั้งครรภ์ แบ่งได้เป็น 3 วิธี คือ การตรวจโดยใช้ปัสสาวะ การตรวจโดยใช้เลือด และการตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ สำหรับ 2 วิธีแรก จะใช้ในการตรวจหาฮอร์โมนที่ชื่อว่า HCG (human chorionic gonadotropin) เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์
ฮอร์โมนดังกล่าว ถูกสร้างจากรก หลังจากเกิดการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิ และตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกแล้วอย่างน้อย 6 วัน โดยในช่วงแรก HCG จะมีค่าต่ำมาก แต่จะมีค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในกรณีของผู้ที่มีภาวะท้องลม แม้ว่าตัวอ่อนอาจฝ่อไปแล้ว แต่รกที่เติบโตขึ้นมานั้น ยังคงสร้างฮอร์โมน HCG ต่อไปได้อยู่ เพียงแต่ระดับจะต่ำกว่าปกติ เมื่อทดสอบการตั้งครรภ์ จึงพบผลการทดสอบเป็นบวกได้
หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยผู้ที่มีภาวะท้องลม
แพทย์ผู้ตรวจ ใช้เกณฑ์หลักในการวินิจฉัย ได้แก่
1.ตรวจอัลตราซาวด์พบถุงการตั้งครรภ์ขนาดใหญ่กว่า 2.5 ซม. จากการอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง หรือ ใหญ่กว่า 1.7 ซม. จากการอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด แต่ยังไม่พบตัวอ่อน
2.ตรวจอัลตราซาวด์พบถุงการตั้งครรภ์ขนาดใหญ่กว่า 2 ซม. จากการอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง หรือ ใหญ่กว่า 1.3 ซม. จากการอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดแต่ยังไม่พบถุงอาหารของทารกในครรภ์ (Yolk sac)
3.ถุงการตั้งครรภ์มีลักษณะบิดเบี้ยว มีรูปร่างผิดปกติอย่างชัดเจน (deformed gestational sac)
ท้องลม (Blighted Ovum) VS ท้องหลอก (Pseudocyesis): แตกต่างกันอย่างไร?
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า 2 คำนี้มีความหมายเหมือนกัน แต่ที่จริงแล้ว ท้องหลอก เป็นคนละอาการกัน เนื่องจากท้องหลอกเป็นความผิดปกติทางใจ โดยสามารถอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของคำว่าท้องหลอกได้ ดังนี้
ท้องลม (Blighted Ovum) คือ มีการท้องเกิดขึ้นจริง ๆ เพียงแต่ด้วยปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ตัวอ่อนหยุดการพัฒนาและฝ่อไปเอง เหลือไว้แค่ถุงตั้งครรภ์เปล่า ๆ
ท้องหลอก (Spurious Pregnancy หรือ Pseudocyesis) เป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง และร่างกายมีการแสดงออกของอาการที่ทำให้รู้สึกว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่จริง ๆ แต่เมื่อไปตรวจกับแพทย์แล้วพบแค่มดลูกเปล่า ๆ ไม่มีร่องรอยการตั้งครรภ์แต่อย่างใด
โดยสรุปก็คือ ท้องลม มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริง แต่ท้องหลอก ไม่เคยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
ท้องลมรักษาอย่างไร ?
ผู้ที่มีภาวะท้องลมมาก่อน ยังสามารถที่จะตั้งครรภ์แบบสมบูรณ์ได้ เพียงแต่หลังจากการท้องลมและเสร็จสิ้นกระบวนการกำจัดถุงตั้งครรภ์ใบเก่าออก ร่างกายจำเป็นที่จะต้องมีการพักฟื้นก่อนที่จะเริ่มวางแผนตั้งครรภ์รอบใหม่ได้
แต่โดยทั่วไปแล้วแพทย์มักจะแนะนำให้เริ่มวางแผนการตั้งครรภ์ครั้งใหม่เมื่อมีรอบเดือนครบ 3 รอบ ในระหว่างนี้ ควรดูแลตัวเองให้มากขึ้น หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย รวมถึงตรวจความพร้อมการตั้งครรภ์ด้วย
ใครบ้างที่เสี่ยงจะท้องลม ?
ผู้หญิงทุกวัย มีโอกาสที่จะพบ ภาวะท้องลม นี้ได้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ทางพันธุกรรมของตัวคุณผู้หญิงเอง โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุและประวัติการตั้งครรภ์ในอดีต นอกจากนี้อาจมาจากโครโมโซมที่ผิดปกติของคุณผู้ชายได้ด้วย
“ การฝากครรภ์และรับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เรารู้ว่ากำลังมีภาวะเสี่ยงต่ออาการผิดปกติของครรภ์หรือไม่ ช่วยให้วางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที “
Q&A ?การท้องลม การตั้งครรภ์หลอก คืออะไร? ? หาคำตอบได้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก นพ.ชัยสึก จิวะธนะพร ? #สาระดีๆbyDHCIVFcenter ? . . .
Q&A สรุป ข้อข้องใจปัญหาท้องลม
-
ท้องลมถือว่าท้องไหม?
ท้องลม ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ เพียงแต่ตัวอ่อนหยุดการพัฒนาไปก่อนที่จะสิ้นสุดกระบวนการตั้งครรภ์เท่านั้นเอง
-
ท้องลมแล้วจะท้องจริงได้ไหม?
หลังจากท้องลมแล้ว หากต้องการจะมีลูก ก็สามารถทำได้ และก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ตามปกติ เพียงแต่ต้องรอให้ร่างกายฟื้นตัวหลังจากท้องลมครั้งก่อนหน้าเสียก่อน
-
ท้องลม มีอาการแพ้ท้องไหม?
แม้แต่คนท้องปกติ ก็ไม่ใช่คนท้องทุกคนที่จะมีอาการแพ้ท้อง ผู้ที่มีภาวะท้องลมก็เช่นกัน บางรายก็พบอาการแพ้ท้อง บางรายก็ไม่พบอาการใด ๆ เลย
อย่างไรก็ตาม อาการแพ้ท้องในผู้ที่มีภาวะท้องลมนั้นจะน้อยกว่าอาการแพ้ท้องของผู้ที่มีการตั้งครรภ์ปกติ
-
ท้องลมปวดฉี่บ่อยไหม?
อาการปวดฉี่บ่อย เป็นหนึ่งในอาการของคนท้อง เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์และมดลูกที่มีการขยายตัวมากขึ้นจนไปเบียดอัดกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้รู้สึกปวดฉี่บ่อยขึ้น
ในส่วนของผู้ที่ท้องลมนั้น เนื่องจากท้องลมมักพบและจบลงในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ มดลูกจึงยังไม่มีการขยายตัวมากพอจะไปเบียดกับกระเพาะปัสสาวะจนทำให้รู้สึกปวดฉี่บ่อย
แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าคนที่มีภาวะท้องลมอาจจะปวดฉี่บ่อย เพียงแต่อาจไม่ได้มาจากการตั้งครรภ์ แต่อาจเป็นปัจจัยอื่น ๆ เช่น ดื่มน้ำมากกว่าปกติ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
-
ท้องลมเลือดออกกี่วัน?
ระยะเวลาเลือดออกเมื่อมีภาวะท้องลมนั้นมักแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ถ้าหากพบว่ามีการตั้งครรภ์ และในช่วงแรกของการตั้งครรภ์มีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษา เพราะอาจเป็นสัญญาณของการแท้งจากภาวะท้องลม
หรือในกรณีที่รุนแรงคือมีการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ตามปกติ แต่เกิดการแท้งขึ้น ก็ควรต้องไปพบแพทย์เช่นกัน
-
ท้องลมท้องโตไหม?
ท้องลมมักตรวจพบได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงแรกของการตั้งครรภ์ที่แม้จะเป็นการตั้งครรภ์ตามปกติขนาดท้องของแม่ก็ยังไม่ได้โตหรือนูนออกมา
เนื่องจากทารกยังมีขนาดตัวเล็กมาก ในส่วนของท้องลมที่ตัวอ่อนฝ่อไปแล้วนั้น ขนาดหน้าท้องก็จะไม่โตหรือนูนออกมาเช่นกัน
-
ท้องลมจะหลุดตอนไหน?
โดยทั่วไปแล้วท้องลมมักตรวจพบได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์ แต่ตัวอ่อนอาจจะหลุดไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้า และเมื่อตรวจพบว่าเหลือแต่ถุงตั้งครรภ์เปล่า ๆ แพทย์ก็จะนัดหรือแนะนำกระบวนการกำจัดถุงตั้งครรภ์ต่อไป
-
ท้องลมขึ้นสองขีดไหม?
เนื่องจากท้องลมเป็นการตั้งครรภ์จริง ๆ ดังนั้น ฮอร์โมนตั้งครรภ์จึงมีระดับที่สูงขึ้น แม้จะไม่ได้มีระดับที่สูงเท่ากับการตั้งครรภ์ตามปกติ แต่ก็มากพอที่จะทำให้ตรวจพบการตั้งครรภ์ ทำให้ในหลาย ๆ กรณีผู้ที่มีภาวะท้องลมได้ทำการตรวจครรภ์แล้วพบผลลัพธ์ขึ้นสองขีด ขณะที่ก็ยังมีอีกหลายกรณีที่มีภาวะท้องลมแต่ตรวจโดยที่ตรวจครรภ์แล้วก็ไม่พบการตั้งครรภ์
Cr : enfababy , praram9 , pobpad
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ดังนี้
สนใจติดต่อ : Deep & Harmonicare IVF Center ศูนย์ปรึกษาการตั้งครรภ์ และ รักษาภาวะมีบุตรยาก
สอบถามการรักษามีลูกยาก : LINE : @dhcivf.th
ติดตามข่าวความรู้เรื่องรักษามีบุตรยาก ได้ที่
FACEBOOK : Deep & Harmonicare IVF Center
ติดต่อเรา : 093-7891313