มารู้จักการทำ IVF หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว กันให้มากขึ้นกันดีกว่า
IVF คืออะไร
ใครบ้างที่เหมาะจะเข้ารับการรักษาโดยการวิธีเด็กหลอดแก้ว
- ฝ่ายหญิงท่อนำไข่มีความผิดปกติ (Tubal Factor) จนไม่สามารถแก้ไขได้โดยการผ่าตัด เช่น อุดตันตีบ หรือคดงอ, บวมน้ำ หรือไม่มีท่อนำไข่จากความพิการแต่กำเนิด, หรือเคยผ่าตัดท่อนำไข่ออกไปทั้งสองข้าง
- หญิงที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) รุนแรงจนมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Adhesion) ล้มเหลวจากการรักษาด้วยยาหรือผ่าตัด หรือพังผืดจากการผ่าตัดรัดท่อท่อนำไข่ให้ใช้งานไม่ได้
- ปัญหาไข่ไม่ตกเรื่อรังและล้มเหลวจากการรักษาโดยยากินหรือฉีด หรือผู้ที่มีปริมาณไข่คงเหลือน้อย (Low Ovarian Reserve) ผู้ป่วยจะเหลือโอกาสไม่มากก่อนที่จะไม่มีไข่เหลือ
- ชายที่มีปัญหา (Male Factor) น้ำเชื้อตัวอสุจิน้อยกว่า 10 ล้านตัว/มิลลิลิตร (Oligozoospermia), การเคลื่อนไหวต่ำ (Asthenozoospermia), หรือรูปร่างผิดปกติมาก (Teratozoospermia), หรือไม่พบตัวอสุจิ (Azoospermia), ไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อออกมาได้ (Aspermia)
- ล้มเหลวจากการรักษาโดยการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) เกินจำนวนที่เหมาะสม
- คู่ที่มีภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ (Unexplaned Infertile) หรือพยายามมากกว่า 2 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ
- คู่ที่มีการตรวจวินิจฉัยตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (Preimplatation Genetic Testing: PGT) สำหรับคู่ที่เสี่ยงเป็นโรคผิดปกติ (Abnormal Genetic Dissease)ที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่บุตรได้ ,เคยตั้งครรภ์แล้วได้บุตรพิการ หรือแท้งบุตรบ่อยเนื่องจากโครโมโซมผิดปกติ
ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนรักษา
- ฝ่ายหญิงและชาย รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่เสริมด้วยวิตามินที่เหมาะสม
- ควรพักผ่อนเพียงพอ โดยนอนหลับอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- งดการสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา ให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนการรักษาได้ดียิ่งขึ้น
ขั้นตอนและระยะเวลาในการทำเด็กหลอดแก้ว
เมื่อท่านเข้ารับการรักษาที่ DHC IVF Center แพทย์จะให้การดูแลรักษาเกี่ยวกับปัญหาการมีบุตรยากของท่านใช้เวลาทั้งหมดโดยประมาณ 4-6 สัปดาห์ ดังต่อไปนี้
- ตรวจ TVS ทางช่องคลอดเพื่อประเมินจำนวนฟองไข่เบื้องต้นและวัดระดับฮอร์โมนร่วมกับการใช้ยาฉีดที่เหมาะสมในการกระตุ้นรังไข่ โดยเริ่มฉีดยาในช่วงต้นของรอบเดือน ช่วงวันที่ 2-3 ของรอบประจำเดือน ใช้เวลาฉีดยากระตุ้นไข่ประมาน 8 -10 วัน
- ตรวจประเมินติดตามการตอบสนองของรังไข่ขนาดของฟองไข่ด้วยการทำ TVS ร่วมกับการเจาะตรวจเลือดฮอร์โมน เมื่อขนาดฟองไข่เหมาะสมคือ 18 มิลลิเมตร มีจำนวน 2-3 ฟอง จะมีการฉีดยาให้ไข่ตก หลังจากนั้นประมาณ 34-46ชั่วโมง จะทำการเก็บไข่
- การเก็บไข่ในขณะที่ทำให้หลับแบบลึกโดยแพทย์วิสัญญี จากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กร่วมกับเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทางช่องคลอด ดูดเก็บฟองไข่ และนำไปตรวจสอบจำนวนและคุณภาพโดยนักวิทยาศาสตร์
- ในวันเดียวกันจะให้สามีเก็บน้ำเชื้ออสุจิในวันเดียวกันกับที่เก็บดูดฟองไข่ และนำมาผ่านกระบวนการเตรียมในห้องปฏิบัติการ
- ฟองไข่ที่ได้จะนำมาผสมกับเชื้ออสุจิที่ผ่านกระบวนการการเตรียมแล้ว โดยวิธีที่เรียกว่า ICSI คือฉีดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนและเพาะเลี้ยงต่อในตู้เลี้ยงเฉพาะ
- เมื่อตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วจะได้รับการเพาะเลี้ยงเพื่อให้เจริญเติบโตมาถึงในระยะ Blastocyst วันที่ 5 หรือ 6 จะทำการย้ายตัวอ่อนกลับตามระยะและอายุของตัวอ่อนในครั้งนี้เลย ซึ่งเรียกว่า รอบย้ายสด หรือบางกรณีไม่สามารถย้ายในรอบนี้ได้ มีการตัดเซลล์ตัวอ่อนเพื่อส่งตรวจหาความผิดปกติทางโครโมโซมหรือคัดกรองโรคทางพันธุกรรม จำเป็นต้องแช่แข็งเก็บรักษาตัวอ่อนไว้ แล้วจึงมาย้ายในรอบเดือนถัดไป เรียกว่า การย้ายรอบแช่แข็ง
- หลังจากทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกในรอบสดจะมีการให้ยาเพื่อประคับประคองพยุงการตั้งครรภ์ต่อ 8-10 วันหลังจากย้าย ก็จะนัดมาตรวจเลือดเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ หากสำเร็จก็นัดตรวจติดตามจนกระทั้งคลอดบุตร
- กรณีไม่สำเร็จในรอบย้ายสด และยังเหลือตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้ แพทย์จะทำการวิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องทำการแก้ไขให้เรียบก่อน และนัดเตรียมย้ายตัวอ่อนในรอบประจำเดือนถัดไป
ระยะของการย้ายตัวอ่อน
การย้ายตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิส อายุ 5 หรือ 6 วันหลังผสม (Blastocyst Transfer)
เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้อัตราตั้งครรภ์สำเร็จมากขึ้น เมื่อเทียบกับการย้ายระยะ day 3 โดยการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนไว้ภายนอกร่างกายจนตัวอ่อนเจริญเติบโตถึงระยะพร้อมฝังตัว (ใช้ระยะเวลา 5 หรือ 6 วันหลังการผสม) ที่เรียกว่า บลาสโตซิส (Blastocyst) แล้วจึงค่อยใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัว และเกิดการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ตัวอ่อนพร้อมฝังตัวเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
การย้ายตัวอ่อนที่มีการตัดเซลล์เพื่อตรวจคัดกรองโครโมโซม (Cleavage/Blastocyst Biopsy Transfer)
ปัจจุบันเทคโนโลยีล่าสุดที่ช่วยให้อัตราตั้งครรภ์สำเร็จสูงมากขึ้นและลดภาวะแท้งบุตร มีการตรวจคัดกรองตัวอ่อนก่อนย้าย โดยการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงอายุ 5/6 วันหลังการผสมพร้อมกับตัดเซลล์ไปส่งตรวจ ที่เรียกว่า ( (Blastocyst Biopsy) จากนั้นทำการแช่แข็งตัวอ่อนหยุดการเจริญเติบโตไว้ รอจนทราบผลตรวจคัดกรองตัวอ่อน เลือกตัวอ่อนปกติมาใช้โดยนำตัวอ่อนมาละลายและย้ายกลับเข้าโพรงมดลูกในรอบที่เตรียมย้ายแบบแช่แข็งต่อไป
โอกาสประสบความสำเร็จ
โอกาสการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วต่อรอบการรักษาซึ่งขึ้นกับอายุของคู่สมรส คุณภาพของน้ำเชื้อ จำนวนและคุณภาพฟองไข่ที่ได้ในแต่ละรอบ และความพร้อมในการรับตัวอ่อนย้ายกลับ โดยส่วนใหญ่หากผู้ป่วยมีจำนวนไข่คุณภาพดีอย่างเพียงพอ ประมาณ 15 ฟองขึ้นไป ความสำเร็จของการตั้งครรภ์สะสมโดยรวมจะอยู่ประมาณ ร้อยละ 50-60 และดีขึ้นเป็น 70-80 % หากมีตัวอ่อนที่โครโมโซมปกติอย่างน้อย 2 ตัว และได้ย้ายกลับ โดยแบ่งเป็นอัตราความสำเร็จ ร้อยละ 35- 40 ต่อรอบที่มีการย้ายตัวอ่อนในรอบที่กระตุ้นหรือรอบสด สูงขึ้นประมาณร้อยละ 40-50 ต่อรอบที่มีการย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง กรณีที่มีการย้ายตัวอ่อนที่ตรวจคัดกรองโครโมโซมแล้วพบว่าปกติ อัตราตั้งครรภ์สำเร็จจะสูงมากขึ้นเป็นร้อยละ 60-70
สนใจติดต่อ : Deep & Harmonicare IVF Center ศูนย์ปรึกษาการตั้งครรภ์ และ รักษาภาวะมีบุตรยาก
สอบถามการรักษามีลูกยาก : LINE : @dhcivf.th
ติดตามข่าวความรู้เรื่องรักษามีบุตรยาก ได้ที่ : fb.me/DeepHarmoniCareIVF
ติดต่อเรา : 093-7891313