ทางเลือกการรักษาภาวะมีบุตรยาก การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และวิธี อิ๊คซี่ (ICSI)
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และวิธี อิ๊คซี่ (ICSI) คือวิธีการที่ตัวอสุจิจะเข้าไปปฏิสนธิกับไข่
สำหรับ IVF นั้นเซลล์ไข่และตัวอสุจิ ถูกนำไปวางผสมกันในจานเพาะเลี้ยง โดยปล่อยให้ตัวอสุจิว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่เองตามธรรมชาติ อสุจิที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะสามารถทำการปฏิสนธิกับไข่ได้
สำหรับ ICSI จะคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์เพียงตัวเดียว และใช้เข็มแก้วขนาดเล็ก เจาะเปลือกไข่ ฉีดตัวเชื้อเข้าไปในเซลล์ของไข่โดยตรง ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ วิธี ICSI สามารถเพิ่มอัตราการปฏิสนธิให้ผลที่ดีมาก และช่วยลดปัญหาการปฏิสนธิที่ผิดปกติ เช่น การปฏิสนธิจากอสุจิหลายตัวและอสุจิไม่สามารถเจาะเปลือกไข่ ได้เอง เป็นต้น
ขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI)
วันที่ 1-3 ของรอบประจำเดือน แพทย์จะทำอัลตราซาวน์ดูจำนวนฟองไข่ตั้งต้น และเจาะเลือดฮอร์โมน จากนั้นจะให้ยาฉีดการกระตุ้นไข่ ประมาณ 8-10 วัน เพื่อให้ได้เซลล์ไข่จำนวนหลายใบซึ่งมีคุณภาพที่ดีแล้ว เมื่อฟองไข่มีขนาดที่เหมาะสมแพทย์จะทำการเจาะเก็บไข่ออกมา จากนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน จะนำไข่เหล่านั้นมาผสมกับอสุจิที่ผ่านการเตรียมและคัดแยกเฉพาะอสุจิที่สมบูรณ์ โดยห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อสุจิ จากนั้นนำมาเก็บไว้ใน ตู้สำหรับเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อปล่อยให้อสุจิได้ทำการปฏิสนธิกับไข่และทำการตรวจผลการปฏิสนธิหลังจากนั้นประมาณ 16-18 ชั่วโมง และเลี้ยงตัวอ่อนเหล่านั้นไปประมาณ 5-6 วัน
การย้ายตัวอ่อน (Embryo Transfer)
การย้ายตัวอ่อน (ET) ใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก จะทำหลังจากเก็บเซลล์ไข่และปฏิสนธิกับอสุจิ แล้ว ซึ่งจะสามารถย้ายได้ตั้งแต่ตัวอ่อนระยะวันที่ 3 ถึงวันที่ 5 ซึ่งแบ่งเป็นการย้ายตัวอ่อนรอบสด (Fresh ET) และรอบแช่แข็งได้ (Frozen-thawed ET) โดยการย้ายตัวอ่อนแต่ละแบบ นั้นขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในแต่ละราย
การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI) เหมาะสำหรับ
- ฝ่ายหญิงมีความผิดปกติของท่อนำไข่ที่ตีบหรือตันทั้งสองข้าง
- ฝ่ายหญิงมีภาวะตกไข่ผิดปกติ (PCOS)
- ฝ่ายหญิงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- คู่สมรสที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม
- ฝ่ายชายมีปัญหาเชื้ออสุจิมีจำนวนน้อยหรือคุณภาพไม่ดี
- ภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ
อัตราการตั้งครรภ์ จากวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI)
โดยทั่วไปแล้วอัตราความสำเร็จของวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI) จะค่อนข้างสูง อยู่ที่ 40-60% โดยอัตราการประสบความสำเร็จ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่
- อายุของฝ่ายหญิง
- คุณภาพของเซลล์ไข่และอสุจิ
- คุณภาพของตัวอ่อน และความผิดปกติของโครโมโซมของตัวอ่อน
- ความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกในวันที่ใส่ตัวอ่อน
- ความผิดปกติของมดลูก และเยื่อบุโพรงมดลูก
ICSI
Intracytoplasmic sperm injection (ICSI) คือ เป็นกระบวนการปฏิสนธินอกร่างกาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก โดยจะคัดเชื้ออสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรง 1ตัวฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ
ข้อบ่งชี้ในการทำ ICSI
1.ฝ่ายชายที่มีปริมาณอสุจิน้อยกว่าปกติ ไม่เพียงพอทีจะทำ IUI หรือ IVF
2.ฝ่ายชายที่มีปัญหาอสุจิเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ
3.ฝ่ายชายที่มีอสุจิมีรูปร่างผิดปกติ < 4 %
4.ฝ่ายชายที่มีปัญหาอสุจิไม่สามารถเจาะเปลือกไข่เพื่อให้เกิดการปฎิสนธิได้
5..ในรายที่ต้องเก็บอสุจิจากการผ่าตัด (Surgical sperm retrieved) เช่นคนไข้ที่ทำหมัน
6.ในรายที่ฝ่ายหญิงแช่แข็งไข่ไว้
7.คู่สมรสที่ต้องการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมด้วยวิธี NGS
ประโยชน์ของการทำ ICSI
1.ช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ 70-85 % ทำให้ได้ตัวอ่อนมากขึ้น
2.ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกิดการตั้งครรภ์สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก อายุเฉลี่ยที่ 35 ปีขึ้นไป
3.ในกรณีที่ทำ ICSI และมีการผสมกันแล้วได้ตัวอ่อนหลายตัว มีตัวอ่อนเหลือสามารถเก็บไว้ทำครั้งต่อไปได้ โดยไม่ต้องกลับมาเริ่มขั้นตอนกระตุ้นไข่เก็บไข่ใหม่ หากคนไข้พร้อมมีลูกคนต่อไปเมื่อไหร่สามารถกลับมาทำได้เรื่อยๆ
4.เป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยาก ที่มีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสูงที่สุด เมื่อเทียบกับวิธีการรักษาอื่นๆ